รูปลักษณ์ของจักรราศี
ราศี แปลว่า กลุ่มดาว ในที่นี้คือ กลุ่มดาว ๑๒ นักษัตร์
นำมาใช้ในการพยากรณ์ทางด้านโหราศาสตร์ มีด้วยกัน ๑๒ กลุ่ม หรือ ๑๒ ราศี แยกตามธาตุ
ดังนี้
ราศีธาตุไฟ ได้แก่ ราศีเมษ ราศีสิงห์ และ ราศีธนู
ราศีธาตุดิน
ได้แก่ ราศีพฤษภ ราศีกันย์ และ ราศีมังกร
ราศีธาตุลม ได้แก่
ราศีเมถุน ราศีตุล และ ราศีกุมภ์
ราศีธาตุน้ำ
ได้แก่ ราศีกรกฎ ราศีพิจิก และ ราศีมีน
ธาตุที่อุปการะกัน
คือ ธาตุไฟ กับ ธาตุลม และ ธาตุดิน กับ ธาตุน้ำ
ธาตุที่เป็นปฏิปักษ์กัน คือ ธาตุไฟ กับ
ธาตุน้ำ และ ธาตุดิน กับ ธาตุลม
เพศประจำราศี มี ๒ เพศ คือ
เพศชาย ได้แก่ ราศีธาตุไฟ และ ราศีธาตุดิน, เพศหญิง ได้แก่ราศีธาตุลม และ
ราศีธาตุน้ำ
จักรราศี คือ
การนำราศีต่าง ๆ มาบรรจุเรียงรายเป็นรูปวงกลม อันหมายถึง ท้องฟ้าเริ่มจากราศีเมษ
ราศีพฤษภ ราศีเมถุน ......เรียงรายทวนเข็มนาฬิกาเรื่อยไป จนถึงราศีมีน
เป็นราศีสุดท้าย
๒. เกษตรประจำราศี
เกษตร แปลว่า อุดมสมบูรณ์ ให้คุณกับดวงชะตา
ดาวเกษตรประจำราศี
หมายถึง การจัดดาวลงในราศีต่างๆ เพื่อให้เป็นดาวเจ้าเรือน ระบบพลูหลวง
แตกต่างจากระบบอื่นตรงที่ ใช้เกษตรเรือนเดียว ดังนี้ คือ พลูโต (พ) เกษตรราศีเมษ,
แบคคัส (บ) เกษตรราศีพฤษภ, ราหู (๘) และ เกตุ (๙) เกษตรราศีเมถุน, จันทร์ (๒)
เกษตรราศีกรกฎ, อาทิตย์ (๑) เกษตรราศีสิงห์, พุธ (๔) เกษตรราศีกันย์, ศุกร์ (๖)
เกษตรราศีตุล, อังคาร (๓) เกษตรราศีพิจิก, พฤหัสบดี (๕) เกษตรราศีธนู, เสาร์ (๗)
เกษตรราศีมังกร, มฤตยู (๐) เกษตรราศีกุมภ์ และ เนปจูน (น) เกษตรราศีมีน
ปรเกษตร คือ ตำแหน่งดาวอันตรงกันข้ามกับเกษตร
เป็นดาวให้โทษ เรียกสั้นๆ ว่า ดาวประ แปลว่า แตกขาด ทำลาย ไม่ต่อเนื่อง ได้แก่
ศุกร์ (๖) เป็นประในราศีเมษ, อังคาร (๓) เป็นประในราศีพฤษภ, พฤหัสบดี (๕)
เป็นประในราศีเมถุน, เสาร์ (๗) เป็นประในราศีกรกฎ, มฤตยู (๐) เป็นประในราศีสิงห์,
เนปจูน (น) เป็นประในราศีกันย์, พลูโต (พ) เป็นประในราศีตุล, แบคคัส (บ)
เป็นประในราศีพิจิก, ราหู (๘) เกตุ (๙) เป็นประในราศีธนู, จันทร์ (๒) เป็นประในราศีมังกร,
อาทิตย์ (๑) เป็นประในราศีกุมภ์ และ พุธ (๔) เป็นประในราศีมีน
๓. ดาวที่ใช้ในโหราศาสตร์
ระบบพลูหลวง
โหรไทยโบราณ
มักจะท่องลักษณะของดวงดาว เป็นคำคล้องจองกัน ดังนี้
"ดูยศศักดิ์อัครฐาน ให้ดูอาทิตย์ ดูรูปดูจริต
ให้ดูจันทร์ ดูกล้าดูขยัน ให้ดูอังคาร ดูเจรจาอ่อนหวาน ให้ดูพุธ ดูปัญญาบริสุทธิ์ ให้ดูพฤหัส ดูโภคสมบัติ ให้ดูศุกร์ ดูโทษทุกข์ ให้ดูเสาร์ ดูมัวเมา ให้ดูราหู
ดูอายุ ให้ดูเกตุ ดูภัยอาเพท ให้ดูมฤตยู"
และเพื่อให้สมบูรณ์ ท่านอาจารย์พลูหลวง ท่านได้ต่อเติมดังนี้" ดูสังคมเฟื่องฟู ให้ดูเนปจูน, ดูสมบัติเพิ่มพูน ให้ดูพลูโต, ดูสินทรัพย์ ลาโภ ดูแบคคัส"
อันที่จริง ลักษณะพิเศษของดวงดาวแต่ละดวง ไม่ใช่จำกัดความสั้น ๆ
ไว้เพียงแค่นั้น ยังมีความหมายอันกว้างขวางยิ่งกว่านั้น
ซึ่งท่านได้จำแนกแยกแยะอย่างละเอียด ดังนี้
อาทิตย์ (๑) คือ เกียรติยศ การถือตน
หมายถึงหัวหน้า เช่น พระเจ้าแผ่นดินหรือหัวหน้าครอบครัว, บิดา,
สามี สถานที่ทำงานรัฐบาล, เพศชาย
จันทร์ (๒) เป็นเพศหญิง อ่อนไหวง่าย
ชอบเดินทาง เจ้าอารมณ์ ชอบความนุ่มนวล, ภรรยา, มารดา, โรงเรียนสตรี หรือ สถานที่เกี่ยวกับสตรี,
บ่อน้ำ
อังคาร (๓) เป็นเพศหญิง อารมณ์กล้าแข็ง
ชอบวิวาท โกรธง่าย เต็มไปด้วยโทสะจริต, อุบัติเหตุ, ขยันขันแข็ง, ทหาร, บาดเจ็บ,
อาวุธ
พุธ (๔) เป็นเพศชาย อารมณ์รวนเร , กลมกลืนกับสิ่งต่าง
ๆ ได้ง่าย, มีความโลภ, จริตมารยาดี, การเจรจา, หนังสือ, การประพันธ์
พฤหัสบดี (๕) เพศชาย , คือ
ผู้ใหญ่, ผู้ปกครอง, ครูบาอาจารย์, สมณเพศ, วัด, โรงเรียน, ความอุดมสมบูรณ์
ศุกร์ (๖) เพศหญิง, ความรัก, ศิลป,
ความฟุ่มเฟือย, ชอบสนุก, ร้านอาหาร, สถานที่รื่นรมย์, โสเภณีคู่ครอง, การแต่งงาน
เสาร์ (๗) เพศชาย, เป็นดาวแสดงความทุกข์ยาก,
ความขัดข้อง, ชีวิตมีอุปสรรค, มักกำพร้า, พลัดพราก, กรรมกร, แหล่งเสื่อมโทรม, ความเจ็บไข้,
โรงงาน, เครื่องเหล็ก
ราหู (๘) เพศชาย , ความลุ่มหลงมัวเมา, ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ฐานันดร, การใส่ร้ายป้ายสี
สิ่งเสพติด อบายมุข
เกตุ (๙) เพศหญิง ของเก่าแก่โบราณ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์
วิญญาณ, คนแก่, คนไม่สมประกอบ, สิ่งที่เป็นอาถรรพณ์ อาเพท เหตุร้ายต่างๆ
มฤตยู (๐) เพศหญิง การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ, การเดินทาง,
การเสี่ยง, การเผชิญโชค, โสเภณี, ต่างแดน, ต่างศาสนา,
สนใจทางจิต
เนปจูน (น) เพศหญิง , ทะเล, น้ำ,
เรือ, ทหารเรือ, การสังคม,
การชุมนุม, การร่วมประชุมโรงมหรสพ, งานออกร้าน, นักไสยศาสตร์, คอมมูนิสต์
พลูโต (พ) เพศชาย , การเงียบขรึม, ชอบสะสม, โบราณคดี, แพทย์, โหราศาสตร์, ไสยศาสตร์, วิญญาณ
แบคคัส (บ) เพศชาย , การเงิน หลักทรัพย์, ความอุดมสมบูรณ์, โชคลาภ, มรดก
๔. ประเภทของดวงดาว แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
ตามลักษณะของการให้คุณ ให้โทษ คือ
ดาวศุภเคราะห์ เป็นดาวให้คุณ
ได้แก่ อาทิตย์ (๑) จันทร์ (๒) พุธ (๔) พฤหัสบดี (๕) ศุกร์(๖) และ แบคคัส (บ)
ดาวบาปเคราะห์ เป็นดาวให้โทษ
ได้แก่ อังคาร (๓) เสาร์ (๗) มฤตยู (๐) เนปจูน (น) พลูโต (พ) และ ราหู (๘) เกตุ
(๙)
๕. ดาวดี – ดาวร้าย โหราศาสตร์
ได้แบ่งประเภทของดาว ตามลักษณะดี ร้าย ออกไปอีก เช่น ดาวคู่มิตร คู่ศัตรู,
ดาวมหาอุจ- ดาวนิจ ฯลฯ
ดาวคู่มิตร ได้แก่ อาทิตย์
(๑) เป็นมิตรกับดาวพฤหัสบดี (๕) , จันทร์ (๒) เป็นมิตรกับ พุธ (๔), ศุกร์ (๖)
เป็นมิตรกับ อังคาร (๓) และ เสาร์ (๗) เป็นมิตรกับ ราหู (๘) ดังคำกลอนที่ว่า
“อาทิตย์เป็นมิตรกับครู
จันทร์โฉมตรู พุธนงเยาว์ ศุกร์ปากหวาน อังคารรับเอา ราหูกับเสาร์ เป็นมิตรแก่กัน”
ดาวคู่ศัตรู ได้แก่ อาทิตย์
(๑) เป็นศัตรูกับ อังคาร (๓), จันทร์ (๒) เป็นศัตรูกับ พฤหัสบดี (๕) , พุธ (๔)
เป็นศัตรูกับ ราหู (๘) และ ศุกร์ (๖) เป็นศัตรูกับ เสาร์ (๗) ดังคำกลอนที่ว่า
“อาทิตย์วิวาทกับอังคาร
จันทร์โฉมฉายวิวาทกับครู พุธนงเยาว์เกลียดเมาราหู ศุกร์เสาร์ทั้งคู่ เป็นศัตรูกัน”
ดาวมหาอุจ
ดาวมหาอุจ คือ
ดาวที่มีศักดิ์สูง ให้คุณแก่ดวงชะตา ได้แก่ อาทิตย์ (๑) เป็นมหาอุจในราศีเมษ,
จันทร์ (๒) เป็นอุจในราศีพฤษภ, มฤตยู (๐) เป็นอุจ ในราศีเมถุน, พฤหัสบดี (๕)
เป็นอุจ ในราศีกรกฎ, ราหู (๘) เกตุ (๙) เป็นอุจ ในราศีสิงห์, พุธ (๔) เป็นอุจ
ในราศีกันย์, เสาร์ (๗) เป็นอุจ ในราศีตุล, เนปจูน (น) เป็นอุจในราศีพิจิก, พลูโต
(พ) เป็นอุจในราศีธนู, อังคาร (๓) เป็นอุจในราศีมังกร, แบคคัส (บ) เป็นอุจ
ในราศีกุมภ์ และ ศุกร์ (๖) เป็นอุจ ในราศีมีน
ดาวนิจ
ดาวนิจ คือ
ดาวที่มีศักดิ์ต่ำ อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับ มหาอุจจ์ เป็นดาวให้โทษในดวงชะตา
ได้แก่ เสาร์ (๗) เป็นนิจ ในราศีเมษ, เนปจูน (น) เป็นนิจ ในราศีพฤษภ, พลูโต (พ)
เป็นนิจ ในราศีเมถุน, อังคาร (๓) เป็นนิจ ในราศีกรกฎ, แบคคัส (บ) เป็นนิจ
ในราศีสิงห์, ศุกร์ (๖) เป็นนิจ ในราศีกันย์, อาทิตย์ (๑) เป็นนิจ ในราศีตุล,
จันทร์ (๒) เป็นนิจ ในราศีพิจิก, มฤตยู (๐) เป็นนิจ ในราศีธนู, พฤหัสบดี (๕)
เป็นนิจ ในราศีมังกร, ราหู (๘) เกตุ (๙) เป็นนิจ ในราศีกุมภ์ และ พุธ (๔) เป็นนิจ
ในราศีมีน
๖. มุมให้คุณ – ให้โทษ ในดวงชะตา
๑ มุมกุม
หรือ มุมร่วมราศี (มุม ๐ องศา) ดาวที่อยู่ในราศีเดียวกัน เรียกว่า “กุมกัน” (ในกรณีที่พิจารณาดาวจรมาทับดาวพื้นดวงในราศีเดียวกัน เราเรียกว่า “ทับกัน”) มีอิทธิพลรุนแรง ด้วยอยู่ร่วมกัน และอยู่ในราศีธาตุเดียวกัน ถ้าหากศุภเคราะห์กุมลัคนา หรือ ศุภเคราะห์กุมกันเอง อย่างนี้ให้คุณ หากบาปเคราะห์กุมลัคนา หรือบาปเคราห์กุมศุภเคราะห์ อย่างนี้ให้โทษ ในกรณีที่บาปเคราะห์กุมกันเองย่อมให้โทษ แต่ย่อมเบาบางกว่า เนื่องจากบาปเคราะห์เบียนกันเอง เปรียบได้ดังสุภาษิตที่ว่า “ร้ายเจอร้ายกลายเป็นดี” หรือ
“คนเลวฆ่ากันตาย คนสบายคือคนดี” จะได้นอนตาหลับอย่างสงบสุข
๒. มุมตรีโกณ หรือ มุมร่วมธาตุ หรือ มุมสามเหลี่ยม (มุม ๑๒๐
องศา) คือ มุมที่มีตำแหน่งของดาวอยู่ในมุมสามเหลี่ยม หรือ เป็น ๕ แก่กัน (การนับ นับจากจุดเริ่มต้นเป็น ๑ เสมอ) ถ้าหากมีดาวศุภเคราะห์อยู่ในมุมร่วมธาตุทั้ง ๓ จุด จะให้คุณมาก
แต่ถ้าหากเป็นบาปเคราะห์ตรึง ๓ จุด อาจจะส่งผลให้คุณด้วยเป็นมุมที่ให้คุณ ด้วยได้รับอิทธิพลจากธาตุเดียวกัน แต่มักจะให้โทษติดตามมาเสมอ ด้วยเป็นบาปเคราะห์ ถ้ามีทั้งศุภเคราะห์ และบาปเคราะห์คละกันไป ไม่ต้องเป็นห่วงว่าบาปเคราะห์จะเบียนศุภเคราะห์ ทั้งนี้ เนื่องจากมุมนี้เป็นมุมให้คุณ แต่บาปเคราะห์นั้น อาจจะส่งผลให้โทษแก่ศุภเคราะห์นั้น ตามลักษณะของดาวบาปเคราะห์ คือ ส่งกระแสความชั่วร้ายไปให้ อาจทำให้ศุภเคราะห์นั้น ด้อยค่าลง หรือ ได้รับผลดีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือ ก่อให้เกิดโทษร้ายตามมาภายหลัง
๓. มุมเล็ง (มุม ๑๙๐
องศา) คือ
มุมที่มีดาวอยู่ตรงกันข้าม หรือ เป็น ๗ แก่กัน คือ อยู่ฝ่ายละธาตุ คนละเพศ
ราศีตรงข้ามปกติจะให้โทษ ถ้าหากเป็นบาปเคราะห์ตั้งอยู่ แต่ถ้าหากเป็นศุภเคราะห์ตั้งอยู่ และเล็งมายังลัคนา ก็สามารถให้คุณแก่ลัคนาได้ แต่ไม่แน่นอนเสมอไป อย่างศุกร์ (๖) เป็นเจ็ดกับลัคนา หรืออยู่ในภพปัตนิ ท่านว่า จะทุกข์ใจเพราะความรัก อ.พลูหลวงได้ให้ความหมายของศุกร์อยู่ในภพที่ ๗ หรือ ปัตนิว่า ความรักถูกฝ่ายตรงข้ามกุมอำนาจไว้ เจ้าชะตาปราศจากความสุข แต่จากประสบการณ์ของผม ศุกร์อยู่ในภพที่ ๗ มักพลัดพรากจากคนรัก ความรักไม่ลงตัว มักจะรักคนที่เขาไม่รักเราจริง ประเภทได้คู่เจ้าชู้ หลายรัก หลายใจ หรือรักเขาข้างเดียว ซะมากกว่า สมดังโบราณว่า “ศุกร์เป็นเจ็ดเจ้าเร่าร้อนทุกข์ใจ” แต่ที่ท่านบอกว่า ศุภเคราะห์เล็งลัคน์ อาจให้คุณกับลัคนานั้น ก็เนื่องจาก มุมเล็ง เป็นมุมสมพงษ์ เป็นของมีมาคู่กันตามธรรมชาติ ย่อมอุปการะกัน เช่น ไฟกับลม, ดินกับน้ำ, ชายกับหญิง
ฯลฯ ดังที่อธิบายมาแล้วในเรื่องของธาตุ
อย่างไรก็ดี “มุมเล็ง”
หรือ “มุมตรงข้าม”
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ตรงข้าม อาจจะเป็นปรปักษ์กันได้ภายหลัง เหมือนสามีภรรยากัน แต่งงานกัน รักกันปานจะกลืน แต่แล้วก็อาจจะมีการทะเลาะเบาะแว้ง เลิกราหย่าร้างกันไป แล้วภายหลังมาตั้งตัวเป็นศัตรูกัน ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า มุมเล็งน่าจะเป็นมุมที่ให้โทษมากกว่าให้คุณ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรกับที่อาจารย์พลูหลวงเคยเขียนไว้ในเรื่องของดาวศุกเคราะห์ที่มาเล็งลัคนา มักจะส่งกระแสดาวบาปเคราะห์คู่เกษตรฝ่ายตรงข้ามมาให้ อย่างเช่น จันทร์ (๒) เล็งลัคน์ ก็จะส่งกระแสดาวเสาร์ (๗) คู่เกษตรฝ่ายตรงข้ามมาให้ ทำให้เจ้าชะตามักจะเป็นคนแบกทุกข์ แบกภาระการงาน อกหักผิดหวัง มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของคู่ครอง ตามลักษณะของดาวเสาร์ หรือ ดาวเศร้านั่นเอง
ในทางกลับกัน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า เสาร์เล็งลัคน์ จะส่งผลให้เจ้าชะตาได้รับกระแสจากดาวจันทร์
(๒) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเสาร์ ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน เพ้อฝัน สร้างจินตนาการอย่างดีเยี่ยม ชอบบรรยากาศที่เงียบสงบ โรแมนติค ตามลักษณะของจันทร์ อย่างเช่น ดวงท่านสุนทรภู่ ที่มีเสาร์ (๗) กับราหู
(๘) อยู่ภพปัตนิ เล็งลัคนา เป็นต้น
๔. มุมโยค (มุม ๖๐
องศา) คำว่า โยค มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า โชค คือ ดาวที่อยู่กระโดดข้ามข้างหน้าไป ๑ ราศี (เป็น ๓ แก่กัน)
เรียกว่า “โยคหน้า”
ถ้าหากอยู่ข้างหลังถัดไปอีก ๑ ราศี (เป็น ๓ แก่กัน
แต่นับไปข้างหลัง) เรียกว่า “โยคหลัง”
ดาวที่ถึงกันในมุมแบบนี้ ก็คล้ายกับมุมเล็งในส่วนที่ เป็นธาตุอุปการะ หรือ สมพงษ์กัน คือ ไฟกับลม, ดินกับน้ำ เรียกว่า เป็นฝ่ายสนับสนุน หรือส่งเสริม ชักนำไปในทางที่ดี ถ้าหากเป็นศุภเคราะห์ตั้งอยู่ ก็ให้คุณยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากเป็นบาปเคราะห์ตั้งอยู่ ก็อาจให้คุณน้อยลงไป และอาจได้รับโทษบ้างตามลักษณะของบาปเคราะห์นั้น ๆ แต่โทษที่ได้ไม่รุนแรง เพราะถือว่า มุมโยค เป็นมุมที่ให้คุณ
๕. มุมจตุโกณ หรือ มุมสี่เหลี่ยม หรือ มุมกากบาท (มุม ๙๐ องศา) เป็นมุมหัก มุมข้อพับ เป็นมุมให้โทษ (เป็น ๔ แก่กัน) ถ้าหากเป็นบาปเคราะห์ตั้งอยู่ครบทุกมุม ให้โทษร้ายแรงยิ่งนัก แต่ถ้าหากเป็นศุภเคราะห์ตั้งอยู่ครบทุกมุม ก็สามารถให้คุณได้ แต่ไม่เต็มที่ หรือ หากให้คุณเต็มที่ ก็จะให้โทษตามมาภายหลัง เพราะเป็นมุมขัดแย้งกันนั่นเอง แต่ถ้าเป็นบาปเคราะห์กับศุภเคราะห์ จำไว้เลยนะครับว่า บาปเคราะห์ย่อมเบียนศุภเคราะห์เสมอ เหมือนคนเลวย่อมทำร้ายคนดี ดังนั้น หากดวงใดมีลักษณะดังที่ว่านี้ แม้โหรโบราณจะยกย่องว่า เป็น “ดวงจตุสดัยเกณฑ์”
คือ ให้คุณในด้านอำนาจ วาสนา เกียรติยศชื่อเสียง หน้าที่การงาน ฐานะความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็จริง แต่ถ้ามีบาปเคราะห์ตรึงในมุมกากบาทมากเท่าไร ยิ่งทุกจุดด้วยแล้ว โอกาสที่ชีวิตจะหักโค่นล้มลงย่อมมีมาก เห็นตัวอย่างมามากแล้ว
ยกตัวอย่าง เช่น ดวงของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมารองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านต้องสิ้นพระชนม์ ก่อนวัยอันสมควร มิได้ขึ้นครองราชย์ เนื่องจาก มีบาปเคราะห์ ๔ ดวง ทำมุมกากบาทกับลัคนา ทุกจุด
, อีกดวงหนึ่ง คือ ดวงท่าน เจ้าพระยามหิธร ซึ่งรับราชการอยู่กับกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ท่านได้ลาออกจากราชการ เพราะการเมืองเป็นเหตุ ต้องตกอับอยู่ระยะหนึ่ง เพราะดวงของท่านมีบาปเคราะห์กุมลัคนา และยังทำมุมกากบาท
กับลัคนาของท่านทุกจุด แต่เนื่องจากดวงของท่านยังมีส่วนอื่น ๆ ที่เข้มแข็งหนุนดวงชะตาอยู่ ท่านจึงมีโอกาสกลับเข้ารับราชการ จนได้ยศถาบรรดาศักดิ์สูงสุด เป็นถึง “เจ้าพระยา”
๖. มุมปลายหอก (มุม ๑๕๐
องศา และ ๒๑๐ องศา) คือ มุมที่ให้โทษร้ายแรงอีกมุมหนึ่ง เนื่องจากเป็น ๖ (อริ) และ เป็น ๘ (มรณะ) กับลัคนา หากมีบาปเคราะห์ตั้งอยู่ทั้ง ๒ จุด จะให้โทษแก่ลัคนา และดาวเจ้าเรือนที่อยู่ในจุดที่เป็นปลายหอกนั้น มุมชนิดนี้จัดเป็นมุมให้โทษอย่างเดียว ไม่ให้คุณ
๗. มุมก้ามปู หรือ มุมบีบ หรือ มุมประชิด (มุม ๓๐
องศา) คือ
มุมที่มีดาวเดินอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง ๑ ราศี ดาวที่อยู่ข้างหน้า เราเรียกว่า “ศูนยพาหะ” เป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลแก่เจ้าชะตา (กรณีเดินนำหน้าลัคนา) และมีอิทธิพลต่อดาวที่เดินตามหลัง ดังนั้น หากดาวที่อยู่ข้างหน้าเป็นดาวที่ให้คุณ ก็จะให้คุณ หากเป็นดาวที่ให้โทษย่อมให้โทษ ดังนั้น เรื่องของศูนยพาหะนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจดจำ เหมือนลูกปูเดินตามแม่ปู ฉันใดฉันนั้น ส่วนดาวที่อยู่ข้างหลังนั้น จะเป็นตัวบ่อนทำลายดาวหรือลัคนา ที่อยู่ข้างหน้า เนื่องจาก เป็นวินาศนะแก่กัน หากลัคนา หรือดาวใด มีดาวบาปเคราะห์บีบหน้าหลังทั้งสองจุด อาจทำให้เจ้าชะตาตกอับและเข้าตาจนได้ แต่ถ้าหากเป็นศุภเคราะห์ทั้งสองจุด ก็อาจจะให้คุณได้บ้าง ด้วยถือได้ว่า อยู่ในแวดล้อมที่ดี แต่ก็นั่นแหละ มุมนี้เป็นมุมบีบ ปกติให้โทษ กว่าจะได้ดีอาจต้องใช้เวลาฟันฝ่าสักหน่อย เพราะถูกกดถูกบีบนั่นเอง
การพิจารณาดาว
ที่สถิตอยู่ในมุมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ได้ยกตัวอย่างเฉพาะดาวศุภเคราะห์ หรือ บาปเคราะห์ แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สะดวกในการจดจำ
และ ไม่สับสน แต่เวลาที่เราพิจารณาดวงจริง ๆ นั้น จะต้องนำเอาศักดิ์ศรีและคุณภาพของดาว คือ เกษตร ประ อุจจ์ นิจ ฯลฯ , ดาวคู่มิตร,
คู่ศัตรู, ดาวอริ, มรณะ, วินาศนะ ฯลฯ มาประกอบการพิจารณาด้วย ถึงจะเป็นการถูกต้องเป็นจริง
๗. ภพ หรือ
เรือนต่างๆ ในดวงชะตา
ภพ หรือ เรือน คือ ราศี
อันเป็นที่ตั้งของดาวเกษตรประจำราศี ที่บอกคุณลักษณะความหมายในด้านต่างๆ
ที่ใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตา เกิดขึ้นจากการเอาเวลาเกิดของเจ้าชะตา มาคำนวณหา “ลัคนา” ซึ่งเป็นภพที่ ๑ ของดวงชะตา เมื่อหาได้แล้วว่าอยู่ที่ราศีใด ราศีนั้น คือ
เรือนที่ ๑ หรือ ภพที่ ๑ อันเป็นที่ตั้งของลัคนา
ภพ
หรือ เรือน มีด้วยกันทั้งสิ้น ๑๒ ภพ หรือ ๑๒ เรือน เท่ากับจำนวนราศี ใน จักรราศี
เมื่อเราวางลัคนาที่คำนวณได้ในราศีใด ราศีหนึ่งแล้ว ราศีถัดไป นับจากซ้ายไปขวา
หรือ ทวนเข็มนาฬิกา ก็จะเป็นภพที่ ๒ หรือ เรือนที่ ๒, ราศีถัดไป จะเป็นภพที่ ๓
หรือ เรือนที่ ๓......เรื่อยไป จนถึงภพที่ ๑๒ หรือ เรือนที่ ๑๒
ภพที่
๑ หรือ เรือนที่ ๑ เรียกว่า เรือนลัคนา หรือ เรือนลัคน์ เกษตรเจ้าเรือน
เราเรียกว่า ดาวเจ้าเรือนลัคน์ เช่น ลัคนาอยู่ในราศีเมษ เกษตรราศีเมษ คือ ดาวพลูโต
(พ) ดังนั้น ดาวเจ้าเรือนลัคน์ คือ ดาวพลูโต (พ) เราใช้ภพที่ ๑ หรือ ลัคนา
ในการพยากรณ์เรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเข้ามาสู่เจ้าชะตาทุกเรื่อง
ไม่เฉพาะเจาะจงทายลักษณะนิสัยใจคอ รูปร่าง หน้าตา แต่เพียงอย่างเดียว เรื่อง
ความเป็นความตาย การเจ็บไข้ไม่สบาย วาสนาบารมี ความสุข ความทุกข์ ความสมหวัง
ผิดหวัง ฯลฯ ก็ต้องนำเอาลัคนา และ ดาวเจ้าเรือนลัคน์ มาพิจารณาร่วมทุกครั้ง
ภพที่
๒ หรือ เรือนที่ ๒ เรียกว่า ภพกฎุมพะ หรือ เรือนกฎุมพะ เกษตรเจ้าเรือน เราเรียกว่า
ดาวเจ้าเรือนกฎุมพะ หรือ ดาวเจ้าเรือนการเงิน เพราะภพนี้ ใช้สำหรับพยากรณ์เรื่องราว
เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน รายได้ ฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าชะตา ฯลฯ เป็นหลักใหญ่
นอกจากนั้น ยังใช้พยากรณ์เกี่ยวกับ การพูด การเจรจา การตกลงทำสัญญา
การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ และ อื่น ๆ อีกมาก ถ้าลัคนาอยู่ในราศีเมษ ภพที่ ๒ คือ
ราศีพฤษภ มีดาวแบคคัส (บ) เกษตรราศีพฤษภ เป็นดาวเจ้าเรือนกฎุมพะ หรือ
ดาวเจ้าเรือนการเงิน
ภพที่
๓ หรือ เรือนที่ ๓ เรียกว่า ภพสหัชชะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับเพื่อนฝูง ญาติมิตร
วงสังคม การไปมาหาสู่ หรือ การเดินทางในระยะใกล้ ๆ เช้าไป เย็นกลับ
ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพสหัชชะ คือ ราศีเมถุน มีดาวราหู (๘) และ เกตุ (๙)
เกษตรราศีเมถุน เป็นดาวเจ้าเรือนสหัชชะ
ภพที่
๔ หรือ เรือนที่ ๔ เรียกว่า ภพพันธุ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย
การเดินทางเปลี่ยนแปลงโยกย้ายที่อยู่อาศัย การพลัดที่นาคาที่อยู่ มารดาในดวงชาย บิดาในดวงหญิง ญาติที่น้องท้องเดียวกัน
หรือ สายโลหิตเดียวกัน รถยนต์ ยานพาหนะทุกชนิด ฯลฯ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพพันธุ
คือ ราศีกรกฎ มีดาวจันทร์ (๒) เกษตรราศีกรกฎ เป็นดาวเจ้าเรือนพันธุ
ภพที่
๕ หรือ เรือนที่ ๕ เรียกว่า ภพปุตตะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับบุตร บริวาร สัตว์เลี้ยง
ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้อ่อนอาวุโสกว่า หากเป็นดวงบ้านดวงเมือง หรือ
ดวงของพระเจ้าแผ่นดิน ปุตตะ ในที่นี้ หมายถึง พสกนิกร หรือ
ผู้อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาท เป็นข้ารับใช้แผ่นดิน ฯลฯ ถ้าลัคนาอยู่ในราศีเมษ
ภพปุตตะ คือ ราศีสิงห์ มีดาวอาทิตย์ (๑) เกษตรราศีสิงห์ เป็นดาวเจ้าเรือนภพปุตตะ
ภพที่
๖ หรือ เรือนที่ ๖ เรียกว่า ภพอริ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ศัตรู
โรคภัยไข้เจ็บ ความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ฯลฯ เป็นภพทุสถานะ หากดาวใดมาสถิตอยู่
หรือ ไปกุมกับดาวเจ้าเรือนอริ ก็จะเกิดโทษแก่ดาวนั้นๆ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพอริ
คือ ราศีกันย์ มีพุธ (๔) เกษตรราศีกันย์ เป็นดาวเจ้าเรือนอริ
ภพที่
๗ หรือ เรือนที่ ๗ เรียกว่า ภพปัตนิ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับความรัก คู่ครอง
การแต่งงาน ศัตรูที่เปิดเผย ฯลฯ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพปัตนิ คือ ราศีตุล มีศุกร์
(๖) เกษตรราศีตุล เป็นดาวเจ้าเรือนปัตนิ
ภพที่
๘ หรือ เรือนที่ ๘ เรียกว่า ภพมรณะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับ การพลัดพราก สูญเสีย
การสิ้นหวัง พังทะลาย ความล้มเหลว การเปลี่ยนแปลงจากสถานะหนึ่ง ไปสู่สถานะหนึ่ง
ฯลฯ เป็นภพทุสถานะ ถ้าดาวใดมาสถิตอยู่ หรือ มากุมกับดาวเจ้าเรือนมรณะ
ก็จะเกิดโทษแก่ดาวนั้น ๆ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพมรณะ คือ ราศีพิจิก มีอังคาร (๓)
เกษตรราศีพิจิก เป็นดาวเจ้าเรือนมรณะ หรือ ดาวฆาต
ภพที่ ๙ หรือ เรือนที่ ๙ เรียกว่า ภพศุภะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับ วาสนาบารมี
คุณงามความดี ความสำเร็จสมหวัง ศาสนาและศีลธรรม การเดินทางไกล
การได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง การออกบวช การต่างประเทศ ต่างแดน บิดาในดวงชาย มารดาในดวงหญิง ฯลฯ
ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพศุภะ คือ ราศีธนู มีดาวพฤหัสบดี (๕) เกษตรราศีธนู
เป็นดาวเจ้าเรือนภพศุภะ
ภพที่
๑๐ หรือ เรือนที่ ๑๐ เรียกว่า ภพกัมมะ
เป็นภพที่สถิตของดาวที่อยู่เหนือศีรษะพอดีในขณะเกิด มีความสำคัญเทียบเท่าลัคนา
ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับการกระทำ หรือ กรรมของเจ้าชะตา ตลอดจนการศึกษาเล่าเรียน
การงานอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ
ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพกัมมะ คือ ราศีมังกร มีเสาร์ (๗) เกษตรราศีมังกร
เป็นดาวเจ้าเรือนกัมมะ
ภพที่
๑๑ หรือ เรือนที่ ๑๑ เรียกว่า ภพลาภะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับ ลาภผล ความพึงพอใจ
สิ่งที่ได้มาโดยง่าย ผู้ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้อุปถัมภ์ค้ำชู
เพื่อนสนิท ฯลฯ ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพลาภะ คือ ราศีกุมภ์ มีดาวมฤตยู (๐)
เกษตรราศีกุมภ์ เป็นดาวเจ้าเรือนลาภะ
ภพที่
๑๒ หรือ เรือนที่ ๑๒ เรียกว่า ภพวินาศนะ ใช้พยากรณ์เกี่ยวกับ สิ่งเร้นลับ
ไม่เปิดเผย สิ่งที่อยู่ห่างไกล อยู่ในที่จำกัดเขต ที่หวงห้าม ฯลฯ เป็นภพทุสถานะ
หากดาวใดมาอยู่ หรือ กุมกับดาวเจ้าเรือนวินาศนะ ก็มักจะเกิดโทษแก่ดาวนั้น
ถ้าลัคนาอยู่ราศีเมษ ภพวินาศนะ คือ ราศีมีน มีดาวเนปจูน (น) เกษตรราศีมีน
เป็นดาวเจ้าเรือนวินาศนะ
๘. ลัคนาจรตามภพ หรือ
การนับเกณฑ์อายุของเจ้าชะตา เรื่องการนับเกณฑ์อายุ หรือ ลัคนาจรนี้ โหรโบราณเขาก็มีวิธีการนับ
ดูจะไม่แตกต่างไปจากระบบพลูหลวงนัก กล่าวคือ เมื่อแรกเกิด
ถึง ๑ ปี เมื่อเราผูกดวงขึ้นมานั้น ลัคนาอยู่ที่ใด อายุ ๑ ปีแรกของเรา
ก็อยู่ที่นั้น ทีนี้พออายุ ๒ ปี ลัคนาก็ต้องจรจากที่อยู่เดิม คือ ภพที่ ๑
เข้าสู่ภพที่ ๒ (การเงิน) พออายุ ๓ ปี ก็เข้าภพที่ ๓
(สหัชชะ) ......นับอย่างนี้เรื่อยไป จนอายุครบ ๑๒ ปี เต็ม
ลัคนาก็จะจรเข้าอยู่ในภพวินาศนะ ถือเป็น ๑ รอบ
ลัคนาจรตามภพ
พออายุ ๑๓ ปี ก็ต้องขึ้นรอบใหม่ เป็นรอบที่สอง
ตั้งต้นใหม่จากลัคนา พออายุ ๑๔ ปี ก็เข้าภพที่ ๒ , อายุ ๑๕
ปี ก็เข้าภพที่ ๓ .......จนหมดรอบที่ ๒ ก็ขึ้นรอบที่ ๓ ตอนอายุ ๒๕ ลัคนาจร
ก็จะเข้าทับลัคนาเดิมในพื้นดวง
หากลัคนาจรเข้าเรือนใด
มักจะส่งผลคำทำนายเน้นหนักไปที่เรือนนั้น เช่น
เข้าเรือนปัตนิ คือ ช่วงอายุเต็ม ๗, ๑๙, ๓๑, ๔๓, ๕๕, ๖๗.....ฯลฯ จะมีเกณฑ์พบคู่ หรือพบคนรัก
มีความสัมพันธ์กับคนรัก หรือแต่งงาน คือ ไม่พ้นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไปได้
หากลัคนาจรเข้าเรือนมรณะ คือ ช่วงอายุเต็ม ๘, ๒๐, ๓๒, ๔๔, ๕๖, ๖๘, ๘๐.....ฯลฯ
อย่างนี้ต้องระวังการเจ็บไข้ไม่สบายอย่างหนัก หรือได้รับการผ่าตัด
อุบัติเหตุอันตรายร้ายแรง อาจมีการพลัดพราก
สูญเสียในเรื่องต่าง ๆ หรือตัวเองอาจได้รับอันตรายร้ายแรงถึงกับชีวิตได้
เมื่อเราวางลัคนาจรในพื้นดวงเดิมแล้ว
เราก็จะสามารถอ่านเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในปีนั้นๆ จากจุดลัคนาจรที่เราตั้งขึ้น
ประกอบกับพื้นดวงเดิม หรือ ลัคนาเดิมได้ และเมื่อดูประกอบกับดาวจรในขณะนั้น
ที่มากระทบกับดาวเดิม คือ มาทับดาวเดิม หรือมาเล็งดาวเดิม มากากะบาดดาวเดิม หรือ
มาทำมุมปลายหอก ดาวเดิม อย่างนี้ถ้าเป็นบาปเคราะห์ ก็จะให้โทษมาก
แต่ถ้าดาวศุภเคราะห์จรมาทับลัคนา หรือดาวเดิม มาทำมุมร่วมธาตุ หรือ โยคหน้า
โยคหลัง ซึ่งถือว่าเป็นมุมที่ให้คุณ อย่างนี้ก็จะให้คุณแก่เจ้าชะตา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูให้ออก แยกให้ได้ว่า เรากำลังดูเรื่องใด ดีหรือร้าย
โดยอาศัยเกณฑ์ หรือแนวโน้มส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีนั้น จากลัคนาจรตามภพ
แล้วค่อยพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามมา
๙.
ดาวเสวยอายุ เสวยแทรก แบบใหม่ ที่ใช้ในระบบพลูหลวง
เป็นเรื่องจริงครับ ไม่มีระบบอื่นใดในโลกใช้ดาวเสวยอายุ เสวยแทรกแบบนี้เลย
ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของท่านทีเดียวครับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่กล้าท้า และกล้ายืนยันว่า ทฤษฏีดาวเสวยอายุ เสวยแทรกแบบใหม่นี้
ใช้ได้ผลอย่างดีเยี่ยม ตลอดระยะเวลา ๒๐ กว่าปี ที่ผมได้ศึกษา ผ่านการผูกดวง
อ่านดวง เพื่อใช้ในการพยากรณ์ ยังไม่มีพลาดเลยครับ ลองดูนะครับ ลองเอาไปใช้ดู
แล้วจะรู้ความจริงเอง ว่า ดีจริงหรือไม่ ?
ดาวเสวยอายุ เสวยแทรกแบบใหม่นี้ ท่านอาจารย์พลูหลวง
ท่านใช้ทฤษฎีของเกษตรใหม่ ที่ดาวเรียงรายกัน ใกล้ ไกล จากดวงอาทิตย์
เป็นหลักในการเสวยอายุ เสวยแทรก โดยเริ่มที่ดาวอาทิตย์ (๑) ก่อน ตามมาด้วยพุธ (๔)
ที่อยู่ใกล้ที่สุด ถัดมาก็เป็นดาวศุกร์ (๖) และ ดาวจันทร์ (๒) ที่อยู่ใกล้โลก
ไม่ได้จัดโลกไว้นะครับ อย่างที่บอกไว้น่ะแหละ ว่าจุดสังเกตการณ์เราอยู่บนโลก
เรามองไม่เห็นตัวเราเองหรอกครับ จากนั้นก็เป็นอังคาร
(๓).....ไล่เรื่อยไปจนถึง...พลูโต (พ) ในช่วงที่กำหนดทฤษฏีนี้ ยังไม่มีการนำแบคคัส
(บ) มาใช้ และผมเห็นว่า คนส่วนมากในขณะนี้ น้อยคนนักที่จะมีอายุเกิน ๑๐๐ ปี
ผมก็เลยไม่อุตริ นำมาจัดเพิ่มเติม คงไว้ซึ่งหลักการของอาจารย์พลูหลวง จะดีกว่า
ดาวอาทิตย์ (๑) จะครองวัย หรือ เสวยอายุ
ตั้งแต่แรกเกิด ถึง ๑๐ ปี , พุธ (๔) อายุ ๑๑ – ๒๐ ปี, ศุกร์ (๖)
อายุ ๒๑ – ๓๐ ปี, จันทร์ (๒) อายุ ๓๑ – ๔๐ ปี, อังคาร (๓) อายุ ๔๑ –
๕๐ ปี, พฤหัสบดี (๕) อายุ ๕๑ – ๖๐ ปี,
เสาร์ (๗) อายุ ๖๑ – ๗๐ ปี, มฤตยู (๐) อายุ ๗๑ – ๘๐ ปี,
เนปจูน (น) อายุ ๘๑ – ๙๐ ปี, และ พลูโต
(พ) อายุ ๙๑ – ๑๐๐ ปี หากใครอายุมากเกินร้อย
แล้วจะมาดูเรื่องเนื้อคู่ล่ะก็ ผมจะดูให้ว่า ตายไปแล้ว นอนด้วยโลงทำไม้อะไร
ถึงจะถูกโฉลก พบเนื้อคู่บนสรวงสวรรค์ รับรองความแม่นยำครับ
เมื่อเราทราบว่า ช่วงไหนดาวใดเสวยอายุแล้ว เราก็มานับ หาตำแหน่งดาว ที่จะเสวยแทรก
ในช่วงปีนั้น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น อายุ ๙ ขวบ
ซึ่งอยู่ในวัยอาทิตย์ (๑) นั้น มีดาวใดเสวยแทรก ก็ต้องนับ ๑ ขวบ
จากอาทิตย์ (๑) นับ ๒ จากพุธ (๔) นับ ๓ จากศุกร์ (๖) นับ ๔ จากจันทร์ (๒) นับ ๕
จากอังคาร (๓) นับ ๖ จากพฤหัสบดี (๕) นับ ๗ จากเสาร์ (๗) นับ ๘ จากมฤตยู (๐)
และนับ ๙ จากเนปจูน (น) จะเห็นได้ว่า เจ้าชะตาตอนอายุ ๙ ขวบนั้น มีดาวอาทิตย์ (๑) เสวยอายุ
และดาวเนปจูน (น) เสวยแทรก
ตัวอย่างอายุ ๒๕ ปี เราทราบว่า
อยู่ในวัยของดาวศุกร์ (๖) เราก็เริ่มนับ ๒๑ ที่ศุกร์ (๖) นับ ๒๒ ที่จันทร์ (๒) นับ
๒๓ ที่อังคาร (๓) นับ ๒๔ ที่พฤหัสบดี และนับ ๒๕ ที่เสาร์ จะเห็นได้ว่า อายุ ๒๕ ปี
ที่อยู่ในวัยเบญจเพสนั้น ศุกร์ (๖) เข้าเสวยอายุ และเสาร์ (๗) เข้าเสวยแทรก
เรียกสั้น ๆ ว่า ศุกร์เข้าเสาร์แทรก คนถึงกลัววัยนี้กันนักกันหนา เพราะดาวเสวยอายุ
เสวยแทรก เป็นดาวคู่ศัตรูกัน
เพื่อความเข้าใจ และเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ก็จะทำตารางดาวเสวยอายุ เสวยแทรก แบบใหม่ ให้พิจารณากัน ดังนี้
ตาราง
ดาวเสวยอายุ – เสวยแทรก แบบใหม่ (ระบบพลูหลวง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น